ประวัติความเป็นมา

จังหวัดแพร่เป็นจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 555 กิโลเมตร มีภูเขาล้อมรอบทั้งสี่ทิศทิศเหนือ ติดกับจังหวัดพะเยาและจังหวัดน่าน  ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดน่าน  ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดลำปาง  ทิศใต้ ติดกับจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดสุโขทัย  มีเนื้อที่ประมาณ 6,538.59 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,086,625 ไร่

ตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ ได้จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่สามารถหาหลักฐานที่ แน่ชัด ได้สันนิษฐานว่ามีมาแต่ปี พ.ศ.2436 ซึ่งเริ่มมีการแบ่งส่วนราชการ ในจังหวัดแพร่ เป็น 6 หน่วยงานตามแบบแผนองกระทรวงมหาดไทย

ใน พ.ศ.2436 เป็นกรมยุติธรรมและตำรวจโดยมีเจ้าราชบุตร (ยอดฟ้า ณ น่าน) เป็นหัวหน้าตำรวจ เมืองแพร่

พ.ศ.2444 มีการจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร ขึ้นซึ่งนับว่าเป็นสถานศึกษาวิชาการตำรวจแห่งแรกของชาติ ทำหน้าผลิตนายตำรวจภูธร ออกรับราชการตามกองตำรวจภูธร มณฑลต่าง ๆ

ในปี พ.ศ.2445 ตำรวจเมืองแพร่ได้มีผลงานในการปราบปรามกลุ่มเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ เมื่อวันที่ 25 กรกฎา รัตนโกสินทร์ศก 121 เวลาเช้า (ตรงกับ พ.ศ.2445) ได้มีพวกเงี้ยว เข้าตีโรงตำรวจภูธรนอกประตูชัยไล่ฟันพลตำรวจแตกตื่นหนีไปหมด ตำรวจภูธรถูกฟันบาดเจ็บ 4 คน แต่อำแดงคำภรรยา ร.ต.ต.ตาด ไม่ยอมหลบหนีได้เอาปืนยิงต่อสู้เงี้ยวจึงถูกพวกเงี้ยวซึ่งมีจำนวนมากกว่า เอาดาบไล่ฟันอำแดงคำและบุตรเลี้ยงถึงแก่ความตาย แล้วเข้าเก็บเอาปืนและเครื่องอาวุธต่าง ๆ หนีไป การยึดโรงพักเป็นไปอย่างเงียบเชียบเพราะกองโจรใช้แต่อาวุธดาบและมีด เมื่ออำแดงคำ ภริยา ร.ต.ต.ตาด ตำรวจเมืองแพร่ ที่ปฏิบัติหน้าที่สมกับเป็นเมียตำรวจที่ดีใช้อาวุธ ปืนเข้ายิงต่อสู้ ทำให้บรรดาข้าหลวงในเมืองได้ยินเสียงปืนและรู้ตัวว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้น การยึดโรงพักครั้งนั้นทำให้กองโจรมีอาวุธที่ทันสมัยไว้ในครอบครองรวม กันเกือบ 100 กระบอก และมีกระสุนปืนรวมกันเกือบ 10,000 นัด

ต่อมาในเดือน สิงหาคม พ.ศ.2445 ได้มีการปราบปรามพวกกบฏเงี้ยวโดยการนำของเจ้าพระยาสุรศักดิ์ มนตรี และตำรวจพร้อมเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายมี นายดาบตำรวจแก้ว กล้าผจญได้มีส่วนรวมในการปราบปรามในครั้งนี้จนได้รับบำเหน็จความดีความชอบ เสนอชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯพระราชทานนาม จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 6 พระราชทานนามเป็น นายดาบตำรวจหมื่นขยันสำรวจกิจ (แก้ว กล้าผจญ) สำหรับประตู ตาดคำ (สันนิษฐานว่าเป็นชื่อของ ร.ต.ต.ตาด และภรรยา อำแดงคำ ) ซึ่งถูกสร้างไว้เป็นอนุสรณ์สำหรับ ร.ต.ต.ตาด และอำแดงคำ ซึ่งได้เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องสถานีตำรวจ ปัจจุบันยังใช้ประตูตาดคำ เป็นประตูใช้ เข้า-ออก ของสถานีตำรวจภูธรเมืองแพร่ อยู่ด้านทิศเหนือติดกับถนนเจริญเมือง

ปี พ.ศ.2460–2466 ปรากฏชื่อ พ.ต.ต.เจ้าชัยวรเชษฐ์ ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ ดำรงตำแหน่งแต่วันที่ 10 เมษายน2460 ถึง 28 ธันวาคม 2466 ปี

พ.ศ.2475 ได้มีการเปลี่ยนชื่อกรม ตำรวจภูธร เป็นกรมตำรวจ มีการแบ่งส่วนราชการเป็น 4 ส่วน คือส่วนที่ 1 กองบังคับการ, ส่วนที่ 2 ตำรวจนครบาล, ส่วนที่ 3 ตำรวจภูธร ส่วนที่ 4 ตำรวจสันติบาล ในส่วนของจังหวัดแพร่ มี ร.ต.อ.หลวงภิรมย์รักษา เป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ ดำรงตำแหน่งแต่วันที่ 1 กันยายน 2473 ถึง 10 มีนาคม 2477 และปรากฏรายนาม ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ อีกหลายท่าน

ปี พ.ศ.2506 กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ มีเขตรับผิดชอบตลอดพื้นที่ของจังหวัดแพร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 7 สถานีตำรวจอำเภอและกิ่งอำเภอ คือ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองแพร่,สถานีตำรวจภูธรอำเภอร้องกวาง,สถานีตำรวจภูธร อำเภอสอง, สถานีตำรวจภูธรอำเภอสูงเม่น,สถานีตำรวจ ภูธรอำเภอลอง,สถานีตำรวจภูธรอำเภอวังชิ้น,และสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอ เด่นชัย มีนายตำรวจชั้นผู้บังคับกองและชั้นผู้บังคับหมวดเป็นผู้รับผิดชอบ บังคับบัญชา

ปี พ.ศ.2532 ได้ปรับปรุงโครงสร้างกรมตำรวจ ตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ปรับเป็นตำแหน่งรองผู้บังคับการ ทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด มีพ.ต.อ. อนุดิษฐ์ อัตถศาสตร์ ดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ คนแรก

ปี พ.ศ.2533 พ.ต.อ.ชัยวรรณ ชาครียรัตน์ ดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับ การทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ คนต่อมา

ปี พ.ศ.2537 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างกรมตำรวจ ตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ จึงมีการยกสถานะเป็นกองบังคับการ มี พ.ต.อ.ชัยวรรณ ชาครีรัตน์ เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ คนแรก จนถึงปัจจุบันนี้